วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ความรู้กึ่งสำเร็จรูป

ความเป็นมาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา มาม่า


มีสินค้าไม่กี่ชนิดในประเทศไทย ที่จะสามารถทำให้ชื่อยี่ห้อสินค้า กลายเป็นชื่อเรียกของผลิตภัณฑ์ เช่น ผงซักฟอก ถูกเรียกว่าแฟ๊บ หรือ ผ้าอนามัย ถูกเรียกว่า โกเต๊ก ทั้ง ๆ ที่ยี่ห้อนั้นๆไม่ได้เป็นสินค้าตัวแรกที่คนไทยรู้จักด้วยซ้ำ และหนึ่งในนั้นก็คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ถูกเรียกว่า มาม่า ทั้ง ๆ ที่ มาม่า เป็นบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้อที่ 4 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย นับจากยี่ห้อแรก คือ
ซันวา ถือกำเนิดขึ้นในราวปี พ.ศ.2514 – 2515 ตามมาด้วย ยำยำ ไวไว และมาม่า ในเวลาไล่เลี่ยกัน จนกระทั่งปัจจุบัน ขณะที่คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมากถึง 5-6 ล้านซองต่อวัน และในจำนวนนั้นมีมาม่ามากกว่าครึ่ง ที่เหลือเป็นยี่ห้ออื่น ๆ รวมกัน จนเกือบจะเรียกได้ว่า กินแทนข้าว หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องทำเรื่องของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ถูกเรียกว่า “มาม่า” และทำเรื่องของมาม่า ที่ถูกเรียกแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยไม่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์มาม่า ซึ่งเป็นยี่ห้อของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่อย่างใด ตามประวัติศาสตร์ของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทย “ซันวา” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแรกมีต้นแบบมาจากบะหมี่ญี่ปุ่นที่ต้องต้มก่อนกิน ในขณะที่ ยำยำ ไวไว และมาม่า พัฒนามาจากบะหมี่ไต้หวัน ที่สามารถเติมน้ำร้อนเพียง 3 นาทีก็อร่อยได้ทันที ในขณะที่ประวัติศาสตร์ของมาม่า บันทึกไว้ว่า การเกิดขึ้นเป็นยี่ห้อที่ 4 ในเมืองไทย พลาดตั้งแต่ก้าวแรกเมื่อออกบะหมี่ฮกเกี๊ยน มาสู้กับ 3 เจ้าเดิม เพราะคนไทยไม่สนใจบะหมี่ชื่อเรียกยากเช่นนี้ ก้าวต่อมาของมาม่า จึงกลับมาเป็นรสชาติง่าย ๆ ตรง ๆ แต่โดนใจคนไทย นั่นคือ ซุปไก่ และหมูสับ ตามมาด้วยรสยอดนิยมตลอดกาล อย่างต้มยำกุ้ง ซึ่งทำให้มาม่าแจ้งเกิดอย่างเต็มตัว ในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ด้วยรสชาติถูกปากคนไทย และกลยุทธถูกใจในการโฆษณาที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ การชงให้ชิมฟรี การชิงโชคแจกทอง และสปอตโฆษณาง่าย ๆ ภายใต้สโลแกน มาม่า.....อร่อย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีส่วนประกอบสำคัญ 3 อย่างที่จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ นั่นคือ เส้นบะหมี่สีเหลืองกรอบ กับเครื่องปรุง เครื่องปรุงจะประกอบด้วยน้ำมันเจียว และผงเครื่องปรุง หรือน้ำพริกเผา แตกต่าง และขึ้นอยู่กับรสชาติของบะหมี่ซองนั้น ๆ เส้นบะหมี่ทำจากแป้งสาลีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก ในขณะที่น้ำมันเจียว น้ำพริกเผา พริกป่น และผงเครื่องปรุง จะมาจากวัตถุดิบทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นหอมกระเทียม ขิงข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กุ้งแห้ง พริกแห้ง พริกไทย ว่ากันไปตามสูตร
ส่วนสารปรุงแต่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือผงชูรสที่เพิ่มความอร่อย ซึ่งไม่ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ในซองบะหมี่หรือซองเครื่องปรุงมีปริมาณของผงชูรสมากจนก่อให้เกิดโทษของผู้บริโภคได้ หากรับประทานมากเกินไป ก็ไม่ได้ทำให้คนไทยกินบะหมี่สำเร็จรูปน้อยลงไปได้แต่อย่างใด
ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังขยายตัวตลอดเวลา และทวีความรุนแรงในการแข่งขัน ดูได้จากรสชาติใหม่ ๆ ที่ประดิษฐ์ต้องคิดค้นกันออกมาอย่างไม่ขาดสาย ไม่นับรวมบะหมี่น้องใหม่ทั้งหลาย ที่พยายามออกมาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด ทั้งที่ประสบความสำเร็จ และที่ล้มหายตายจากไปอย่างเงียบ ๆ ด้วยความต้องการของตลาด มากมายมหาศาลมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาทต่อปี ทำให้มาม่าเดินทางออกสู่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่น้อยกว่า 5 ล้านซองต่อวัน โดยผลิตเส้นบะหมี่กัน 300 ก้อนต่อนาที ตามกำลังเต็มพิกัดของเครื่องจักรแต่ละเครื่อง ใช้แป้งสาลีหลายพันตันต่อวัน ขณะเดียวกันก็ต้องผลิตเครื่องปรุงนับล้านซอง เพื่อรองรับการปริมาณการผลิตเส้น เพราะฉะนั้น โรงงานมาม่าต้องนำเข้าวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อการผลิตเครื่องปรุงในปริมาณมหาศาล โดยการสั่งซื้อจากเกษตรกรตามแหล่งต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ตะไคร้จากกาญจนบุรี พริกแห้งจากอุบลราชธานี หรือน้ำมันปาล์มจากชุมพร แต่กว่าที่จะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในแต่ละซอง มีกระบวนการและขั้นตอนการผลิตที่สลับซับซ้อน และละเอียดอ่อนมากมายซ่อนอยู่เบื้องหลังความอร่อย อย่างน้อยก็กระบวนการที่จะทำให้ผงแป้ง กลายเป็นเส้นบะหมี่เหลืองกรอบที่มีรสชาติอร่อยอยู่ภายในเส้น ซึ่งหลาย ๆ คนชอบแอบกินโดยขี้เกียจแม้แต่จะต้มน้ำร้อน บะหมี่แตกหักหล่นร่วง รับประทานได้หรือไม่ถ้าไม่ได้ บะหมี่จากโรงงานมาม่า คือบะหมี่ก้อนเดียวกันกับบะหมี่ไม่มีซองในร้านขายก๋วยเตี๋ยวริมทางหรือไม่ หรือแม้แต่ส่วนของเครื่องปรุง การจะทำให้เครื่องเทศนานาชนิด กลายเป็นผงธุลีปลิว แต่มีรสชาติ สีสันหรือแม้กระทั่งกลิ่นที่ลงตัวกันอย่างพบดิบพอดี ในซองเครื่องปรุงนั้นทำกันอย่างไร และมาม่าต้องทำน้ำพริกเผาปริมาณมหาศาลสักเพียงไหน เพื่อให้เพียงพอกับบะหมี่รสต้มยำกุ้งที่ผลิตขายทั้งในและนอกประเทศหลายล้านซองต่อวัน


ประวัติของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา มาม่า
ประวัติม่าม่า
มาม่าได้มีการผลิตครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 แม้ว่าจะมีบะหมี่สำเร็จรูปยี่ห้ออื่นอีกในตลาดของประเทศไทย เช่น ยำยำไวไวกุ๊งกิ๊ง และอื่นๆเป็นต้น และ "มาม่า" ได้กลายเป็นชื่อที่ติดปากของคนไทยในการกล่าวถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

ผลิตภัณฑ์
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำกุ้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำน้ำข้น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสต้มยำเส้นชาเขียว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสเป็ดพะโล้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสผัดขี้เมาแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รสหมูน้ำตก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ออเรียนทัลคิตเชน รสโคเรียน สไปซ์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ออเรียนทัลคิตเชน รสฮอตแอนด์สไปซี่ บะหมี่แห้งกึ่งสำเร็จรูป ออเรียนทัลคิตเชน รสหมี่โกเล้ง บะหมี่มาม่าเจ รสต้มยำ บะหมี่มาม่าเจร สเต้าหู้เห็ดหอม บะหมี่มาม่าเย็นตาโฟ บะหมี่มาม่าหมูต้มยำ บะหมี่โฮลวีตกึ่งสำเร็จรูป รสหมูพริกไทยดำ



ประวัติของ บะหมี่กึงสำเร็จรูป
ความง่าย อร่อย และราคาถูก ทำให้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุด จนอาจจะพูดได้ว่า "ทุกวันนี้อาหารที่คนทั่วโลกรับประทานมากที่สุดคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" ก็คงไม่ผิดจากความเป็นจริงเท่าไหร่
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีต้นกำเนิดมาจาก ประเทศญี่ปุ่น โดยนาย อันโด โมโมฟุกุ ผู้ก่อตั้งและประธานกลุ่มบริษัท นิชชิน วันที่ 25 สิงหาคน ปี 1958 ซึ่งเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นประสบกับปัญหาข้ามยากหมากแพง ทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องทานแต่อาหารที่ราคาถูกและสะดวกในการทำหรือหาทาน ซึ่งก็คือ ราเมน
วันหนึ่งของฤดูหนาวในโอซาก้า นาย อันโด ได้เห็นสภาพของชาวญี่ปุ่นที่ยืนเข้าแถวยาวเหยียด เพียงเพื่อรอทานราเมนแค่ 1 ชาม เพื่อเป็นอาหารคลายหนาว ทำให้นาย อันโด ได้พยายามคิดค้น ราเมนที่ สามารถทำทานเองที่บ้าน เก็บไว้ได้นาน และราคาถูก ขึ้นมา จนในที่สุดก็ได้ "ชิกิ้นราเมน" ขึ้นมา
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในตอนแรก ทำโดยนำเส้นราเมนที่ได้จากผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่(โทริคะระ) ทอดในน้ำมันปาล์มเพื่อไล่ความชื้นออกไป ทำให้เก็บไว้ได้นานและแค่เพียงเติมน้ำร้อน เส้นก็จะคืนสภาพเดิมสามารถกินได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติมเลย เพราะว่าเส้นผสมกับน้ำซุปกระดูกไก่แล้ว (ในตอนแรก ชิกิ้นราเมนมีราคาอยู่ที่ 35 เยน)
ในปัจุบัน ชิกิ้นราเมน ก็ยังเป็นรสที่ขายดี ที่ยังคงความอร่อยมาอยู่ถึงทุกวันนี้ ต่อมา นาย อันโด ก็ได้ ก่อตั้งบริษัทนิชชินขึ้นมา และได้พัฒนาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติและรูปแบบอื่นๆขึ้นมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น "คัพเมน" ที่ได้แนวคิดมาจากการทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของคนอเมริกา (ในตอนแรกนั้นภาชนะที่ทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเป็น ชาม แต่เพียงอย่างเดียว) สำหรับ คัพเมน(หรือคัพนู้ดเด้ล)นั้นยังมีเกร็ดที่มาของความนิยมอยู่ คือในตอนแรกนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์การลักพาตัวประกันโดยกลุ่มต่อต้านจักรวดิญี่ปุ่น ที่จังหวัดนากาโน่
ในเวลานั้นได้มีการถ่ายทอดสดตลอดเวลา ต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 10 วัน อีกทั้งยังเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ชมมากที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์ญี่ปุ่น(90%) และนอกจากภาพเหตุการณ์การละกพาตัวประกันแล้ว ยังมีภาพของคนที่กำลังทาน คัพนู้ดเด้ลในสถานที่เกิดเหตุด้วย (ปกติคนญี่ปุ่นจะทานข้างกล่องหรือ เบ็นโตะ แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์นั้น เป็นช่วงอากาศหนาวเย็น ทำให้ข้าวกล่องแข็งจนทานไม่ได้) คนญี่ปุ่นจึงได้รู้จัก คัพนู้ดเดิ้ล ในวงกว้าง และเป็นที่แพร่หลายไปทั่วโลกจนเป็นอาหารที่คนทานมากที่สุดในโลก
(ถ้าจะย้อนประวัติของ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป คงต้องย้อนไปถึง "โลเมียง" ซึ่งเป็นภาษาจีน ที่แปลว่า "บะหมี่ที่ต้มแล้ว" บะหมี่แบบจีนเป็นอาหารที่นิยมอย่างมากในเมืองซับโปโร และพื้นที่อื่นของประเทศญี่ปุ่น)
สำหรับประเทศไทย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้เข้ามาราวปี พ.ศ. 2514-2515 บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อแรกในประเทศคือ "ซันวา" ที่มีต้นแบบมาจากบะหมี่ญี่ปุ่นที่ต้องต้มก่อนทาน ส่วน "มาม่า" เป็นยี่ห้อที่ 3-4 ของประเทศไทย หาใช่ ยี่ห้อแรกอย่างที่ใครๆเข้าใจกัน
"มาม่า" จัดเป็น "Generic Name" หรือชื่อสามัญที่คนไทยในปัจจุบันใช้เรียก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งแสดงถึงPowerของยี่ห้อ มาม่าได้เป็นอย่างดี (จากการสำรวจของบริษัท ซินโนเวต ในปี 2007 มาม่าเป็นตามสินค้าอันดับ 2 ที่ผู้บริโภคชาวไทยนึกถึง ส่วนอันดัน 1 คือ โนเกีย)
ผู้ให้กำเนิดมาม่าคือ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) หรือ TF ซึ่งอยู่ใต้ร่มธงของเครือสหพัฒน์ (บริษัทไทยเพรซิเด้นท์ ฟูดส์ จำกัด ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2515)
สาเหตุที่มาม่าได้รับความนิยมอย่างมากและต่อเนื่องนั้น ถ้าวิเคราะห์ตามหลัก 4Ps คือ
Price ราคาที่ ถูก คือ 5 บาท โดยที่ทางสหพัฒฯได้เน้นที่ กลยุทธ์ Pricing เป็นอย่างมาก ทำให้มาม่ามีราคาขายแค่ 5 บาท เป็นเวลานานถึง 10 ปี
Place มาม่ามีวางจำหน่ายทุกร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ห้างสรรพสินค้า หรือแผงหาบเร่ อีกทั้งยังครอบคลุมทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ที่ยากจะเข้าถึง(หมู่บ้านบนเขาหรือเกาะกลางทะเล)
Product มาม่ามีหลายรสชาติให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น รสหมูสับ ต้มยำ ฯลฯ และมาม่ามักจะเป็นผู้นำทางด้านการคิดค้นรสชาติใหม่ๆเสมอ
Promotion มาม่ามีโปรโมชั่นการขายสินค้าที่หลายหลากและต่อเนื่องตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น ลด แลก แจก แถม ซึ่งเปลี่ยนสลับกันอย่างต่อเนื่องมาตลอด
นอกจากนี้ มาม่า ยังใช้กลยุทธ์ การสร้างมูลค่าเพิ่ม(Value Added) ด้วยวิธีการนำเสนอในรูปแบบ ถ้วยและชาม ที่เน้นความสะดวกในการทาน และยังสร้างภาพลักษณ์ให้กับยี่ห้อด้วยการ ออก แบบถ้วยกระดาษ ที่เน้นถึงความอนุรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย
ปัจจุบัน คนไทยทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 6 ล้านซองต่อวัน และเป็นการทานมาม่ามากกว่า 50%
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในยุคศตวรรษที่ 50 จนถึงปัจจุบัน และยังคงเป็นอาหารที่มีคนรับประทานในปริมาณต่อหน่วยต่อบุคคลมากที่สุด(ในกลุ่มชนชั้นกลางและกลางล่าง) อีกทั้งยังเป็นอาหารที่มีทานแทบจะทุกชนชาติ ทั้งๆที่ถือกำเนิดมาแค่ครึ่งศตวรรษ


วิธีการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรา มาม่า

มาม่า เป็นยี่ห้อ และเครื่องหมายการค้าของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตโดยบริษัทบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และจัดจำหน่ายโดยบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด
วิธีการผลิตมาม่า
การผลิตมาม่าจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนคือ 1. การผลิตเส้น และ 2. การผลิตเครื่องปรุงรสต่างๆ
1. การผลิตเส้นมาม่า
การผลิตเส้นมาม่านั้นจะทำเป็นระบบอุตสาหกรรม ใช้ทั้งเครื่องจักรกลและแรงงานมนุษย์ช่วยกันผลิต หัวใจหลักของเส้นม่ามาคือ แป้งสาลีที่ทำมาจากข้าวสาลีที่จะต้องได้คุณภาพและได้มาตรฐานมาก เพื่อที่จะให้เส้นบะหมี่ที่มีความเหนียวนุ่ม ชวนรับประทาน
การเลือกแป้งสาลีจากผู้ค้านั้นถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ค้าประจำ แต่ทุกครั้งที่รถแป้งสาลีคันแล้วคันเล่ามาส่งสินค้า เจ้าหน้าที่แผนกตรวจวัดมาตรฐานของแป้งสาลีก็จะทำการเก็บตัวอย่างไปทดลอง โดยการนำตัวอย่างแป้งสาลีที่เก็บมานั้นผสมเข้ากับน้ำร้อนแล้วคนให้เข้ากันจนเป็นก้อนแป้งแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะดมกลิ่นของแป้งนั้นว่าหอมไหม หืนไหม แป้งเก่าหรือไม่ ถ้าไม่ก็จะนำแป้งนั้นส่งเข้าท่อที่มีความสูงมากเพื่อกักเก็บแป้งที่จะนำไปใช้ต่อไป เมื่อได้แป้งสาลีแล้วก็จะนำไปเข้าเครื่องอัดให้เป็นแผ่นและใช้เครื่องตัดเส้นที่จะทำให้เส้นหยิกดูน่ารับประทาน หลังจากนั้นก็จะนำไปต้มที่น้ำเดือดและเป่าลมเย็นก่อนตามด้วยราดน้ำซุปเพื่อเพิ่มรสชาติและนำไปตัดเป็นก้อนขนาดพอดีซอง หลังจากนั้นก็จะนำไปทอดให้เหลืองกรอบ เป็นขั้นตอนสุดท้าย
2. การผลิตเครื่องปรุงมาม่า
เครื่องปรุงรส มาม่า ประกอบไปด้วย ผงเครื่องปรุง กระเทียมเจียว น้ำพริกเผา และพริก ซึ่งรสชาติแต่ละรสนั้นจะมีความต้องการเครื่องปรุงที่แตกต่างกันออกไป เช่น รสต้ำยำกุ้งก็จะต้องการพริกมากหน่อย รสต้องจัดจ้าน หรือรสหมูสับ พริกก็จะน้อยเพราะไม่เน้นความเผ็ด เครื่องปรุงรสของมาม่าก็จะมี ใบมะกรูด พริก ตะไคร้ เป็นต้นในการทำน้ำพริกเผา และเครื่องปรุงรสแบบซองก็จะมีส่วนผสมของโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรสด้วย

การที่จะได้มาซึ่งแต่ละรสชาติของมาม่านั้นจะต้องพึ่งพิงแผนกสำคัญคือ แผนกชิม ที่จะต้องออกไปเฟ้นหารสชาติใหม่ ที่อร่อย ถูกใจลูกค้าเพื่อมาผลิตเป็นรสชาติใหม่ให้กับมาม่า ซึ่งแผนกนี้จะต้องชิมน้ำซุปของร้านต่างๆ เช่นร้านก๋วยเตี๋ยวแม่จู เป็นต้นแล้วนำน้ำซุปนั้นมาวิเคราะห์และลองผลิตรสจากกลิ่นสังเคราะห์ต่างๆดู ถ้ารสชาตินั้นผ่านก็จะนำเสนอเรื่องการผลิตขึ้นไปอีกที

อ้างอิง

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. "มาม่า." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2 สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553

ยิ้มปริศนา. “ความรู้กึ่งสำเร็จรูป.” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=yimprissana&month=05-2005&date=27&group=10&gblog=12 สืบค้นเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น